การผ่าตัดคลอด ผ่าคลอด หรือ Cesarean section คือ การผ่าตัดทางหน้าท้องเพื่อนำตัวเด็กทารกในครรภ์ออกมาทางแผลผ่าตัดด้านหน้ามดลูก
การผ่าตัดคลอด ถือเป็นหัตถการ หรือ วิธีการคลอดที่มีการทำกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในช่วง 20 ปีมานี้ บางแห่งมีอัตราการทำสูงถึง 60-70% ของการคลอดทั้งหมด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน
ทำไมคน “ผ่าคลอด” กันเยอะขึ้น
สาเหตุที่ทำให้มีอัตราการทำ cesarean section สูงขึ้น พอจะกล่าวได้ดังนี้
- ความก้าวหน้าของการแพทย์
ทำให้ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดลงไปมาก
- สาเหตุจากตัวแม่
– คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก เนื่องจากแต่งงานช้าลง ซึ่งอัตราผ่าคลอด จะเพิ่มมากอยู่แล้วในมารดาที่มีอายุมาก
– ดูฤกษ์คลอด ทำให้อยากได้วันคลอดตรงกับวันตามฤกษ์
– ความสะดวกสบาย ผ่าคลอดทำให้กำหนดวันคลอดได้แน่นอน ไม่ต้องกังวล รอว่าจะเจ็บคลอดฉุกเฉิน กะทันหัน
- สาเหตุจากทางทารก
ในอดีตการผ่าคลอด เราทำเพื่อลดอัตราการตาย หรือทุพลลภาพของแม่เป็นหลัก โดยคำนึงถึงทารกในครรภ์น้อย แต่ปัจจุบันเราทำเพื่อหวังผลช่วยทารกในครรภ์ด้วยจึงทำให้อัตราการผ่าคลอดเพิ่มขึ้น
- สาเหตุจากทางแพทย์
- การกลัวการถูกฟ้องร้อง ถ้าทารกคลอดออกมาแล้วมีปัญหา
- ความสะดวกสบายของแพทย์ ที่ไม่ต้องเฝ้าคลอดนาน และสามารถกำหนดเวลาคลอดได้
ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดคลอดบุตร
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการผ่าคลอด การตัดคลอดบุตร กับ การคลอดทางช่องคลอด หรือ คลอดธรรมชาติ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
ข้อดีของการผ่าตัดคลอด
- ลดอัตราการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งมีผลต่อการกลั้นปัสสาวะในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอด
- โอกาสตกเลือดหลังคลอดน้อยกว่าการคลอดทางช่องคลอด
ข้อเสียของการผ่าตัดคลอด
- มารดามีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน จากการให้ยาระงับความรู้สึก
- มารดา มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น บาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง แผลผ่าตัดติดเชื้อ
- เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดด
ขั้นตอนการ ผ่าคลอด บล็อคหลัง
การเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด
การผ่าท้องทำคลอด อาจเป็นไปได้ทั้งแบบที่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า หรือ แบบผ่าตัดฉุกเฉินขณะเจ็บครรภ์คลอด ขึ้นอยู่กับเหตุผลของการผ่าตัด แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด จะได้รับการเตรียมจากการแพทย์คล้ายกัน
- แพทย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าท้องทำคลอด และให้ลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
- งดอาหาร และน้ำทางปากอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัด อาจยกเว้นในกรณีการผ่าตัดฉุกเฉิน
- ทำความสะอาด และโกนขนบริเวณสะดือ และท้องน้อยตำแหน่งที่จะลงแผลผ่าตัด
- เจาะเลือดเพื่อใช้ในการเตรียมเลือด เผื่อไว้ใช้ในกรณีที่มารดาอาจเสียเลือดมากในระหว่างผ่าตัด
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
- ใส่สายสวนคาไว้ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะ ไม่ให้กระเพาะปัสสาวะโป่งพอง ซึ่งจะช่วยให้เห็นส่วนล่างของมดลูกได้อย่างชัดเจน และป้องกันอันตรายต่อกระเพาะปัสสาวะในขณะผ่าตัด
- สวนอุจจาระเพื่อให้ทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนล่างปราศจากอุจจาระ ยกเว้นมีข้อห้ามหรือกรณีการผ่าตัดฉุกเฉิน
การให้ยาระงับความรู้สึกในการผ่าคลอด
ก่อนการผ่าตัดจะได้รับการให้ยาระงับความรู้สึก ซึ่งได้ได้ 2 วิธี คือ
- การดมยาสลบ เป็นการฉีดยาให้หลับ แล้วใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลม ข้อดี คือ ใช้เวลาในการเตรียมไม่นาน เหมาะในกรณีฉุกเฉินที่ต้องการให้รีบคลอด แต่ยาดมสลบอาจกดการหายใจ ของทารก และในรายที่แม่ใส่ท่อช่วยหายใจยาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสำลักเอาเศษอาหารเข้าปอด และเกิดปอดอักเสบตามมา
- การฉีดยาชา เข้าบริเวณไขสันหลัง หรือ บล็อคหลัง เป็นการแทงเข็มขนาดเล็กเข้าช่องน้ำไขสันหลัง ระดับเดียวกับบั้นเอว เพื่อที่จะฉีดยาชาเข้าไป ทำให้หมดความรู้สึกเฉพาะส่วนล่างของร่างกาย ตั้งแต่ระดับเหนือเอวเล็กน้อยลงมาจนถึงปลายเท้า
ข้อดีของการบล็อคหลัง คือ ทารกไม่ถูกกดการหายใจจากยา และแม่จะรู้สึกในขณะผ่าตัด แต่ไม่รู้สึกเจ็บในบริเวณที่ทำการผ่าตัด ทำให้แม่สามารถชื่นชมลูกได้ทันทีหลังลูกเกิด นอกจากนี้ฤทธิ์ของยาชาอาจช่วยลดอาการเจ็บแผลในระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ได้ การเลือกวิธีการ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิสัญญีแพทย์
ขั้นตอนการผ่าคลอด การผ่าท้องทำคลอด
คุณแม่ที่จะผ่าคลอด จะถูกจัดให้อยู่ในท่านอนหงาย เอียงตัวไปทางด้านซ้าย หรือดันมดลูกไปทางด้านซ้าย เพื่อป้องกันมดลูกไปกดทับหลอดเลือดดำใหญ่
ให้ยาระงับความรู้สึก หรือ บล็อคหลัง และ ทำความสะอาดหน้าท้อง
แพทย์ลงแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง โดยแผลผ่าตัดอาจเป็นแนวตรงจากบริเวณใต้สะดือ ถึง บริเวณหัวหน่าว หรือ แนวขวางบริเวณเหนือหัวหน่าว ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ตามความเหมาะสม
จากนั้น ทำการผ่าตัดแยกผนังหน้าท้องชั้นต่าง ๆ เข้าสู่ช่องท้องทีละชั้น จนถึงตัวมดลูก แพทยล์จะลงแผลผ่าตัดผ่านเข้าไปในมดลูก โดยปกติทั่วไปจะลงมีดในแนวขวางบริเวณมดลูกส่วนล่าง ส่วนการลงแผลผ่าตัดที่มดลูกในแนวดิ่งจะทำเฉพาะในรายที่จำเป็นเท่านั้น เช่น มีรกเกาะต่ำทางด้านหน้า หรือ เป็นมะเร็งปากมดลูก
หลังจากนั้นจะทำการคลอดทารก และรกผ่านทางแผลผ่าตัด และเย็บซ่อมมดลูกและผนังหน้าท้องชั้นต่าง ๆ ทีละชั้นจนถึงชั้นผิวหนัง
ที่มา http://www.rtcog.or.th/

สั่งซื้อ สอบถามข้อมูล ของใช้เด็กแรกเกิด ของใช้เด็กอ่อน ผ้าอ้อมใยไผ่ ผลิตภัณฑ์เด็กใยไผ่ NAPPI น้ำหัวปลี เพิ่มน้ำนม Mommy Booster
Facebook: Nappi Baby Thailand
Website: www.nappibaby.com
Line: @nappibaby
Instagram: @nappibabyth